ผู้เข้าชม

web counter

 

 



                                                                                                          

  นายกรัฐมนตรีไทย คนที่20
        นายชวน หลีกภัย

ประวัติ

ชวน หลีกภัย (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 20 ดำรงตำแหน่งสองสมัย ปัจจุบันเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

ประวัติและครอบครัว

ชวน หลีกภัย เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ที่ตำบลท้ายพรุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทับเที่ยง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน ของนิยม กับถ้วน หลีกภัย เมื่อยังเด็ก ชวนมีชื่อเรียกในครอบครัวว่า "เอียด" หมายถึง เล็ก เนื่องจากเป็นคนรูปร่างเล็ก

มีบุตรชายกับภักดิพร สุจริตกุล หนึ่งคน คือ สุรบถ หลีกภัย

การศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์
  • ประถมศึกษา โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง
  • มัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา
  • สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)
  • พ.ศ. 2505 นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2507 เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 17
  • พ.ศ. 2528 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • พ.ศ. 2530 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • พ.ศ. 2536 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์
  • พ.ศ. 2537 ดุษฎีบัณฑิต สาขาวรรณกรรม (ภาพเขียน) มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พ.ศ. 2541 นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
  • พ.ศ. 2542 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัย San Marcos สาธารณรัฐเปรู
  • พ.ศ. 2548 รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2552 นิติศาสตร์คุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2557 นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การทำงาน

ชวน หลีกภัยเริ่มทำงานเป็นทนายความ และต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2534 ชวนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ใน พ.ศ. 2533 ชวน หลีกภัยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และต่อมาใน พ.ศ. 2535 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1 และวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 สมัยที่ 2 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ชวนเป็นพลเรือนคนที่สอง นับจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์พร้อมกับรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คน คือ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และสุรินทร์ มาศดิตถ์

สรุปประวัติทางการเมือง

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยแรก) พ.ศ. 2512
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สอง) พ.ศ. 2518
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2518
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สาม) พ.ศ. 2519
  • รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2519
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2519
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สี่) พ.ศ. 2522
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2523
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2524
  • รัฐมนตรว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2525-2526
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ห้า) พ.ศ. 2526
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่หก) พ.ศ. 2529
  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529-2531
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เจ็ด) พ.ศ. 2531
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2531-2532
  • รองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2532 - 26 ส.ค.2533
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2533 (ส.ค.-ธ.ค.2533)
  • หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (26 ม.ค.2534 - 4 พ.ค. 2546)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่แปด) พ.ศ. 2535 (22 มี.ค.2535)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่เก้า) พ.ศ. 2535 (13 ก.ย.2535)
  • นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 (23 ก.ย.2535 - 20 ก.ค.2538)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบ) พ.ศ. 2538 (2 ก.ค.2538)
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2538 (4 ส.ค.2538)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบเอ็ด) พ.ศ. 2539 (17 พ.ย.2539)
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539 (21 ธ.ค.2539)
  • นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 (9 พ.ย.2540 - 8 ก.พ.2544)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2540 (14 พ.ย.2540-18 ก.พ.2544)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่สิบสอง) พ.ศ. 2544 (6 ม.ค.2544)
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 (11 มี.ค.2544)
  • ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน)
นายกรัฐมนตรี
ชวนขณะอภิปรายในสภา
  • วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

ชวน หลีกภัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก

  • วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

ชวน หลีกภัย ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง โดยรับช่วงต่อหลังจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจนต้องลอยตัวค่าเงินบาท กองทัพไม่ได้ต่อต้านการคืนสู่ตำแหน่งของเขา ชวนได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือจนได้รับความเชื่อถือและเห็นชอบจากสถาบันการเงินนานาชาติและสหรัฐอเมริกา มุ่งไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลผสมก็เอาชนะความพยายามของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ชวนจะไม่ใช่นักการเมืองที่น่าดึงดูดใจ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนและไว้วางใจ เพราะถูกมองว่าซื่อสัตย์ มุ่งปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลจัดตั้งขึ้น โดยกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมสนับสนุนให้พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ดำรงตำแหน่งแทน โดยการสนับสนุนของพรรคความหวังใหม่ (125 คน) พรรคชาติพัฒนา(52 คน) พรรคประชากรไทย (18 คน) และ พรรคมวลชน (2 คน) รวม 197 เสียง ส่วนฝ่ายค้านเดิมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ (123 คน) ร่วมกับพรรคชาติไทย (39 คน) พรรคเอกภาพ (8 คน) พรรคพลังธรรม (1 คน) พรรคไท (1 คน) และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้แก่ พรรคกิจสังคม (20 คน) และพรรคเสรีธรรม (4 คน) สนับสนุนชวน หลีกภัย ด้วยเสียงทั้งสิ้นรวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง

ชวน หลีกภัย กับบิล คลินตัน เมื่อ พ.ศ. 2542

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ก่อให้เกิดกลุ่มการเมืองชื่อ กลุ่มงูเห่า หมายถึง สมาชิกพรรคประชากรไทย 12 คนที่สนับสนุนรัฐบาลโดยคำชวนของพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ จนถูกพรรคประชากรไทยขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมาย กลุ่มงูเห่าทั้ง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพ และหาพรรคใหม่สังกัด

นอกจากกรณีกลุ่มงูเห่าแล้ว ยังมีกรณีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดทางการเมืองอีก 2 ท่าน ได้แก่ นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยนายรักเกียรติ สุขธนะ (พรรคชาติไทย) ได้รับคำพิพากษาตัดสินจาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ฐานเรียกรับสินบนบริษัทยา ทีเอ็น พี เฮลท์ แคร์ จำกัด ซึ่งนับว่าเป็นรัฐบาลชุดแรกที่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ได้รับโทษถึงที่สุดให้จำคุกจากการทุจริตในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะร้ฐบาล

นอกจากนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของรัฐบาลนายชวน หลีกภัยและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากการรายงานบัญชีทรัพย์สินตกหล่น

คำยกย่องและคำวิจารณ์
ชวนขณะปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดตรังในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2512 ซึ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช(ชุดขาว) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น นั่งไขว่ห้างฟังอยู่ข้างล่าง
คำยกย่อง
  • เป็นนักการเมืองที่มือสะอาด จนได้รับฉายา Mr. Clean (นายสะอาด) 
คำวิจารณ์
  • การอนุมัติแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของสังคม สื่อมวลชน และโดยเฉพาะญาติของผู้เสียชีวิต/สูญหายในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19
หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ชวน หลีกภัยกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกครั้ง เมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2544 และต้องการก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใน 2 ปีถัดมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2546 บัญญัติ บรรทัดฐานได้รับเลือก ชวน หลีกภัยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค 3 สมัย เป็นเวลา 12 ปี

ในการเลือกตั้งครั้งถัดมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้งให้พรรคไทยรักไทย บัญญัติ บรรทัดฐานจึงลาออกจากตำแหน่งตัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชวน หลีกภัย มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน

ปัจจุบัน ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

การดำรงตำแหน่งอื่น ๆ
  • อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อาจารย์พิเศษแผนกนิติเวช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลและเกียรติยศ
  • เครื่องหมายกิตติมศักดิ์ราชนาวิกสภาและประกาศนียบัตรของกองทัพเรือ จากการสนับสนุนการศึกษาของกองทัพเรือ นับเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรก ที่ได้รับเครื่องหมายนี้ โดยนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้รับคือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
  • วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 นายชวน หลีกภัย ได้รับพระราชทานยศนายกองใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าแต่งตั้ง 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
  • พ.ศ. 2522 - Order of the Crown of Thailand - 1st Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
  • พ.ศ. 2523 - Order of the White Elephant - 1st Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
  • พ.ศ. 2524 - Order of the Crown of Thailand - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2525 - Order of the White Elephant - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2532 - Order of Ramkeerati (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
  • พ.ศ. 2539 - Order of Chula Chom Klao - 3rd Class upper (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)
  • พ.ศ. 2541 - Order of Chula Chom Klao - 2nd Class upper (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  • พ.ศ. 2551 - Order of the Direkgunabhorn 1st class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2536 - Order of Sukatuna (Special Class) , Raja สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
  • พ.ศ. 2542 - Order of the Sun (Grand Cross) สาธารณรัฐเปรู
  • พ.ศ. 2542 - PRT Order of Christ - Grand Cross BAR.png เครื่องอิสริยาภรณ์ทหารแห่งพระคริสต์ ชั้นประถมาภรณ์
  • พ.ศ. 2543 - Jose Dolores Estrada, Batalla de San Jacinto (Gran Cruz) สาธารณรัฐนิการากัว
  • พ.ศ. 2543 - Romania's Star - The High Cross ประเทศโรมาเนีย